
ศิลปะสถาปัตยกรรม
พระธาตุพนม
พระธาตุพนม เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนายุคแรกๆ ที่แพร่เข้ามาในบริเวณกลุ่มน้ำโขง และมีนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า พระธาตุพนมเป็นพระธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่และมีความศักดิ์สิทธิ์สำคัญของลุ่มน้ำโขง
ดังนั้นในส่วนนี้ เป็นการประมวลภาพพระธาตุพนมในแง่งานศิลปะสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอยู่บนองค์พระธาตุพนม รวมถึงภาพเก่าอันทรงคุณค่า

ภาพเส้นสันนิษฐานโครงสร้างพระธาตุพนม ๔ สมัย (๒ องค์ นับจากด้านซ้ายภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม ๖ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒, หน้า ๑๘๙๒, และอีก ๒ องค์ด้านขวา ภาพลายเส้นโดย ดร.สุพร ชนะพันธ์)

ภาพลายเส้นสันนิษฐานโครงสร้างสมัยปฏิสังขรณ์ครั้งที่ ๔ ระหว่าง พ.ศ.๒๒๓๓-๒๒๓๕ สมัยเจ้าราชครูโพนสะเม็ก (ภาพลายเส้นโดย ดร.สุพร ชนะพันธ์)

ภาพลายเส้นเปรียบเทียบโครงสร้างพระธาตุพนมที่ซ่อนใน พ.ศ.๒๔๘๓ ตรงกับรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการเสริมส่วนยอดพระธาตุพนมด้วยการครอบทับองค์เจดีย์เดิมไว้ภายใน (ภาพลายเส้นโดย ดร.สุพร ชนะพันธ์)
รูปทรงดั้งเดิมของพระธาตุพนม
ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียรภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายในหนังสือ ๕ มหาเจดีย์สยาม จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส ไว้ว่า
“รูปทรงดั้งเดิมของพระธาตุพนมอาจเป็น ปราสาทเขมร-จาม กว่าที่รูปทรงขององค์พระธาตุพนมจะเป็นอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ องค์พระธาตุพนมได้ถูกสร้างเสริมและต่อเติมมาหลายครั้งหลายสมัย โดยนักวิชาการสันนิษฐานว่ารูปแบบดั้งเดิมเมื่อแรกสร้างน่าจะมีรูปทรงปราสาทเขมร ที่สร้างขึ้นในสมัยก่อนเมืองพระนคร มีชื่อเรียกว่าแบบ ไพรกเมง-กำพงพระ
เนื่องจากปราสาทที่สร้างในช่วงสมัยนี้มักทำเรือธาตุเป็นห้อง ก่ออิฐเรียบ มีการประดับด้วยเสากลมที่วางคั่นอยู่เป็นระยะ ๆ บัวหัวเสาทำเป็นรูปกลม ซึ่งเหมือนกับที่พบในส่วนเรือนธาตุขององค์พระธาตุพนมนั่นเอง หรือไม่เช่นนั้นก็อาจมีรูปร่างคล้ายกับปราสาทในศิลปะจาม ที่สร้างในสมัยฮั่วล่าย (Hoa-Lai) และ ดงเดือง (Doug Doung) ซึ่งเคยรุ่งเรืองอยู่ในประเทศเวียดนาม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ คือ กว่าพันปีมาแล้วก็เป็นได้ เนื่องจากเสาติดผนังขององค์พระธาตุพนมมีแถบลวดลายประดับอยู่ตรงกลางเสา เหมือนกับที่พบตามปราสาทในศิลปะจามเป็นอย่างมาก
การที่พระธาตุพนมอาจเคยมีรูปแบบคล้ายคลึงกับปราสาทจามนี้ ไม่ถือเป็นเรื่องแปลกอย่างใดเลย เนื่องจากที่ตั้งของพระธาตุพนมอยู่บนเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างชุมชนโบราณในกลุ่มน้ำโขงตอนกลางของลาวกับช่องเขาที่ออกไปยังอาณาจักรจามปาในประเทศเวียดนามได้ ดังนั้นในบริเวณนี้จึงอาจมีการแลกเปลี่ยนหรือรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากศิลปะจามได้ไม่ยากนัก”
ปราสาทฮั่วลายหลังเหนือ ศิลปะจาม (ภาพจาก ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียงอินเดีย, ลังกา, ชวา, จาม, ขอม, พม่า, ลาว ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๓๘)

ภาพลวดลายพันธ์พฤกษาบนเสา คล้ายคลึงกับศิลปะจาม
ภาพสลักรูปบุคคลบนแผ่นอิฐ
ภาพสลักรูปบุคคลบนแผ่นอิฐ กำลังขี่สัตว์พาหนะ คือ ช้างกับม้า ปรากฏทุกด้านของเรือนธาตุชั้นที่ ๑ ขององค์พระธาตุพนม ภาพสลักดังกล่าวถูกนำไปเชื่อมโยงกับตำนานอุรังคธาตุว่า เป็นท้าวพญาทั้ง ๕ ที่มาร่วมกันสร้างอุบมุงบรรจุพระอุรังคธาตุ ซึ่งในตำนานบันทึกไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๘ ปี พระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ได้นำพระอุรังคธาตุมาทางเมืองหนองหานหลวง พญาสุวรรณภิงคาร เจ้าเมืองหนองหานหลวง และพญาคำแดงเจ้าเมืองหนองหานน้อยออกมาต้อนรับ
จากนั้นพระมหากัสสปะได้นำอุรังคธาตุมาที่ภูกำพร้า (บริเวณที่ตั้งองค์พระธาตุพนม) โดยมีพญาทั้ง ๒ ตามมาด้วย แล้วมีพญาทั้ง ๓ เมืองทราบขาว จึงขอติดตามมาด้วย ได้แก่ พญานันทเสนเจ้าเมืองศรีโคตรบูร พญาจุลณีพรหมทัตเจ้าเมืองจุลณี และพญาอินทรปัตถ์เจ้าเมืองอินทรปัตถ์นคร พญาทั้ง ๕ จึงได้มาร่วมกันช่วยก่ออูบมุงเพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตุ และอธิษฐานขอให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาติหน้า
เมื่อพญาทั้ง ๕ เสด็จกลับบ้านเมืองแล้วพระวิษณุกรรมได้ลงมาทำการแกะสลักเป็นรูปพญาจากเมืองต่างๆ กำลังทรงม้า ที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างอูบมุงพร้อมลวดลายประดับไว้บนผนังรอบๆ องค์พระธาตุทั้งสี่ทิศ รูปเหล่านี้เชื่อกันว่าคือภาพสลักรูปบุคคลบนแผ่นอิฐนั่นเอง เหตุนี้จึงทำให้ญาติโยมจึงมีศรัทธาต่อพระธาตุพนมเรื่อยมา
แต่ก็มีนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่ารูปสลักอิฐดังกล่าวอาจจะเป็นผู้นำพื้นเมืองในสมัยนั้นก็เป็นได้ หรือเป็นนักรบขี่ม้า ช้าง กำลังล่าสัตว์ ทำขึ้นมาในคติทางศาสนาพราหมณ์มากกว่าศาสนาพุทธ
ทางผู้จัดทำเห็นว่าภาพสลักดังกล่าวเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญ ภาพสลักอิฐทั้งหมดน่าจะเป็นส่วนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดขององค์พระธาตุพนม จึงได้ถ่ายภาพทุกด้าน เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ โดยคุณวรพงศ์ ผดุงชอบ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับภาพเก่าที่ถ่ายโดยอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เป็นภาพถ่ายก่อน ๓ เดือน ที่พระธาตุพนมจะพังทลายลงมาในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ (จากหนังสือพระธาตุพนม จัดพิมพ์โดยเมืองโบราณ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘)
|